Tag Archives: ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

Participle ตอนที่ 1 (Present participle)

Present participle

Participle ตอนที่ 1 (Present participle)

ถ้าพูดถึง participle หน้าตาอย่างเป็นทางการของมันคือ  V-ing กับ V-ed (กริยาช่อง 3) ซึ่งมันก็จะมีชื่อเรียกประจำตัวอีกเช่นกัน คือ  Present participle (V-ing) และ Past participle (V-ed)  แต่ละประเภทก็จะมีวิธีการนำไปใช้งานที่แตกต่างกันดังนี้ค่ะ

Present participle (V-ing) กริยาในรูปของ Verb ที่เติม ing นั้นมีเกลื่อนไปหมดเลยค่ะ  แล้วเราจะแยกยังไงว่าอันไหนคืออันไหน  ง่ายๆเลยก็คือดูหน้าที่ของมัน  ถ้าใครจำ gerund ได้ มันก็คือ V-ing เหมือนกันแต่หน้าที่ของมันคือเสมือนคำนาม  แต่ present participle นั้น เราจะพบมันได้ตามตำแหน่งต่างๆดังต่อไปนี้ค่ะ

1.  ใน continuous tense  ไม่ว่าในปัจจุบัน หรือ อดีต ก็จะพบ V-ing ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหลัง Verb to be เช่น

  • She is talking on the phone.
  • I saw Smith when I was walking home last night.

2.  ใช้ขยายคำนาม ทำหน้าที่เหมือน adjective คือขยายนามตัวนั้น  โดยวางไว้หน้าคำนามนั้น  เช่น

  • A boiling kettle is on the stove.

หรือใช้ขยายนามโดยเป็นการลดรูปของ adjective clause ในความหมายที่นามนั้นเป็นผู้กระทำ  เช่น

  • The man talking to Timmy is my dad.

*ประโยคนี้มาจากประโยคเต็มๆคือ The man who talks to Timmy is my dad.
หรือใช้ขยายคำนามที่เป็นกรรมของกริยาต่อไปนี้  find, keep, leave, catch, set, get, send, discover, bring, draw, imagine, paint, show, take เช่น

  • Jimmy kept me waiting the whole day.  (ขยายกรรม me )
  • Her mom left her crying in the room.

3.  ใช้ขยายประโยคทั้งประโยคก็ได้  เช่น

  • Frankly talking, he shouldn’t be promoted.

4.  ใช้รวมประโยค 2 ประโยคเข้าด้วยกัน หรือใช้ในการลดรูป adverb clause (adverb clause คือ ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เหมือน adverb คือขยายกริยา โดยมากมักมี conjunction นำหน้า เช่น when, though, since, etc. ) เช่น

  • The boy arrived home. The boy had something to eat hungrily.
    =  Arriving home, the boy had something to eat hungrily.
    พอมาถึงบ้าน เด็กชายก็หาอะไรกินอย่างหิวโหย
  • When Jimmy was standing on the road, he saw the accident.
    =    Standing on the road, Jimmy saw the accident.
    ขณะที่กำลังยืนอยู่บนถนน จิมมี่ก็เห็นอุบัติเหตุ
  • I am a captain. I have to be responsible for looking after the team.
    =    Being a captain, I have to be responsible for looking after the team.
    เนื่องจากเป็นกัปตัน ฉันเลยต้องรับผิดชอบดูแลทีม

5.  ใช้ตามหลังคำกริยาแสดงการรับรู้  เช่น  see, feel, hear, smell, watch, notice, observe, etc.  ซึ่งจะให้ความหมายว่าการกระทำนั้นกำลังดำเนินอยู่

  • I noticed that man shoplifting in the shop.
    ฉันสังเกตเห็นชายคนนั้นกำลังขโมยของในร้าน
  • She saw the police arresting the thief.
    หล่อนเห็นตำรวจกำลังจับขโมย

Present participle ใช้ได้หลากหลายจริงๆค่ะ  มีทั้งที่เราคุ้นเคยและไม่เคยจะคุ้น  ลองเอาไปฝึกใช้กันนะคะ  ส่วนในตอนที่ 2 จะอธิบายถึงการใช้ past participle ต่อค่ะ ^^

การเปรียบคำคุณศัพท์ขั้นสูงสุด (Superlative Degree)

การเปรียบคำคุณศัพท์ขั้นสูงสุด

การเปรียบคำคุณศัพท์ขั้นสูงสุด  (Superlative Degree)
เมื่อมีการเปรียบเทียบขั้นกว่า ก็ต้องมีการเปรียบเทียบขั้นสูงสุดหรือ superlative degree ซึ่งก็คือการเปรียบเทียบของตั้งแต่ 3 สิ่งขึ้นไป  เช่น  สวยที่สุด,  ดีที่สุด,  ยาวที่สุด เป็นต้น   โครงสร้างของการเปรียบเทียบขั้นสูงสุดนี้ คำคุณศัพท์จะเติม –est   แต่มีข้อยกเว้นอีกเช่นกันคือ  ถ้าเป็นคุณศัพท์ที่มีมากกว่า 2 พยางค์ให้เติม  most ข้างหน้าคำคุณศัพท์  เช่น   fastest, oldest, most expensive, most interesting, etc.

หลักในการเติม –est ก็คล้ายกับการเติม –er  ดังนี้ค่ะ

  1. ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีพยางเดียวให้เติม –est ได้เลย แต่ถ้าคำนั้นเป็นสระเสียงสั้นให้เติมตัวสะกดเพิ่มไปอีกหนึ่งตัวแล้วค่อยเติม –est           เช่น
    rich ——-richest    large ——–largest
    big——–biggest    thin———thinnest
  2. ถ้าคำคุณศัพท์นั้นลงท้ายด้วย y ให้เปลี่ยน y เป็น i  แล้วเติม –est  เช่น
    easy———–easiest     funny———-funniest
    dry————driest        pretty ———prettiest
  3. ถ้าคำคุณศัพท์นั้นลงท้ายด้วย  -ed, -ing, -ful, -less  ถึงแม้จะมีแค่ 1 หรือ 2 พยางค์ให้เติม most ข้างหน้า  จะไม่เติม –est เช่น
    boring ——— most boring     careless ———– most careless
    useful————most useful    helpful ————-most helpful
  4. คำคุณศัพท์บางคำเมื่อใช้ในรูปเปรียบเทียบขั้นสูงสุดจะไม่เติม –est หรือเติส most แต่จะเปลี่ยนรูป  เช่น
    good ————— best, bad ——————- worst
    little ————–least,    many —————-most

มาดูตัวอย่างโครงสร้างประโยคเปรียบเทียบขั้นสูงสุดกันค่ะ

  • Martin is the tallest boy in the class.
  • This is the most exciting story I’ve ever heard.
  • Today is the best day of my life.

** หน้าคำคุณศัพท์ขั้นสูงสุดจะต้องมี the นำหน้าเสมอค่ะ  แต่ถ้าหน้าคุณศัพท์มีคำแสดงความเป็นเจ้าของอยู่  ก็ไม่ต้องใส่ the   เช่น

  • Catherine is my best friend.
  • It was one of our best show ever.

การเปรียบคำคุณศัพท์ขั้นกว่า (Comparative Degree)

การเปรียบคำคุณศัพท์ขั้นกว่า

การเปรียบคำคุณศัพท์ขั้นกว่า (Comparative Degree)
การเปรียบเทียบคำคุณศัพท์ขั้นกว่าคือ  การเปรียบเทียบของ 2 สิ่ง, คน 2 คน, หรือกลุ่ม 2 กลุ่ม  โดยเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนใหญ่กว่า…เล็กกว่า….แพงกว่า….หรืออื่นๆ  คำคุณศัพท์ที่ใช้ในการเปรียบเทียบจะต้องเติม –er ต่อท้าย  แล้วตามด้วยคำว่า than   แต่ก็มีข้อยกเว้นอีกแล้วค่ะ!! ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีมากกว่า 2 พยางค์จะไม่เติม –er แต่จะเติม  more หน้า adjective แทน   คือ    more+ adjective + than

กฎในการเติม –er ก็มีดังนี้ค่ะ

  1. ถ้าคำคุณศัพท์นั้นเป็นสระเสียงสั้น  ให้เติมตัวสะกดเพิ่มไปอีกหนึ่งตัวแล้วค่อยเติม –er  เช่น
    big ——bigger,  hot———hotter,  fat ———-fatter
  2. ถ้าคำคุณศัพท์ลงท้ายด้วย  y  ให้เปลี่ยน y เป็น i  แล้วเติม  -er เช่น
    easy ——— easier, happy ———- happier, dirty ————dirtier
  3. คำคุณศัพท์ที่ลงท้ายด้วย  -ed, -ing, -ful, -less  ถึงแม้จะมีแค่ 1 หรือ 2 พยางค์ให้เติม more ข้างหน้า  จะไม่เติม –er เช่น
    bored ——— more bored, careful ———– more careful
  4. คำคุณศัพท์บางตัว  เวลาทำเป็นขั้นกว่าจะมีการเปลี่ยนรูป  เช่น
    good ———- better, bad ————- worse, far———–father

มาดูตัวอย่างโครงสร้างประโยคกันค่ะ Continue reading

ทำความเข้าใจ Future Simple Tense

Future Simple Tense

Future Simple Tense

เห็นคำว่า “future” เดาได้เลยค่ะว่า tense นี้ต้องเกี่ยวข้องกับอนาคตแน่นอนค่ะ   โครงสร้างของ tense นี้จะมีคำว่า will (จะ) เข้ามาเกี่ยวข้อง

โครงสร้างของ tense คือ

          ประโยคบอกเล่า : Subject + will + V. infinitive…

          ประโยคปฏิเสธ : Subject + will not / won’t + V. infinitive…

          ประโยคคำถาม : Will + subject + V. infinitive…?

          ประโยคคำถาม แบบ Wh :  Wh-Question + will + subject + V. infinitive…?

** V. infinitive คือ คำกริยารูปธรรมดาที่ไม่มีการเติม การผัน การเปลี่ยนรูปใดๆทั้งสิ้น

Tense นี้ง่ายมากค่ะ เพราะไม่ว่าประธานจะเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ก็ใช้ will ได้โลดค่ะ

การใช้ tense นี้บ่งบอกถึงสิ่งที่ “จะ” กระทำในอนาคต แต่คำว่า “จะ” เนี่ยมันก็ยังสื่อความหมายโดยนัยได้หลายอย่าง ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ความเต็มใจที่จะกระทำ เช่น เสนอตัวว่าจะทำอะไรให้ใคร หรือช่วยเหลือ เช่น

  • I will give you a ride. ผมจะขับรถไปส่งคุณเอง
  • I will have the maid clean your room.  ผมจะให้แม่บ้านไปทำความสะอาดห้องคุณ

2. การให้สัญญา เช่น

  • I will love you forever.   ฉันจะรักคุณตลอดไป
  • I won’t lie to you anymore.   ผมจะไม่โกหกคุณอีก

3. การทำนาย หรือการคาดการณ์สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น

  • The price of food will be higher next year.
    ราคาอาหารจะสูงขึ้นในปีหน้า (เป็นการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้น)

ในกรณีนี้ อาจจะมีวลี to be going to เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเป็นการบอกถึงอนาคตเหมือนกัน แต่…!! ถ้าใช้ to be going to จะเป็นการทำนายที่มีหลักฐานที่ชัดเจนทำให้การคาดการณ์น่าเชื่อหรือมีความเป็นไปได้สูง เช่น

  • It’s going to rain. ฝนจะตก (ซึ่งขณะที่พูด อาจจะเห็นเมฆดำมาแต่ไกล)

นอกจากนี้ to be going to ยังบอกถึงแผนการที่วางเอาไว้ ซึ่งเราจะไม่ใช้ will ค่ะ เช่น

  • Tanu is going to spend his summer in Phuket.
    ธนูตั้งใจว่าจะใช้วันหยุดฤดูร้อนที่ภูเก็ต
  • They are going to leave for Japan at 7 a.m. tomorrow.
    พวกเขาจะไปญี่ปุ่นตอน 7 โมงในวันพรุ่งนี้

** สองเหตุการณ์นี้บอกถึงแผนการในอนาคต เราจะใช้ will ก็ต่อเมื่อจะพูดถึงสิ่งที่จะทำโดยปัจจุบันทันด่วน ไม่มีการวางแผนมาก่อน มีการตัดสินใจเดี๋ยวนั้น เช่น

A: Your boyfriend called you at 9 o’clock.
B: Thank you. I’ll call him back later.

ซึ่ง B ไม่รู้มาก่อนว่า A โทรมาจึงตัดสินใจเดี๋ยวนั้นว่าจะโทรกลับ แต่ถ้า B รู้อยู่แล้ว ประโยคก็จะเป็นแบบนี้ค่ะ

B: I know it. Thank you. I’m going to call him back when I have time.

 

ทำความเข้าใจ Present Continuous Tense

ทำความเข้าใจ Present Continuous Tense

Present Continuous Tense

ในแต่ละ Tense จะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งตัวที่เป็นตัวแปรหลักก็คือ คำกริยา หรือ verb นั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าเราแม่น verb เรื่อง tense ก็ไม่หลุดรอดไปไหนแน่นอนค่ะ ^^

Tense นี้ก็เช่นกัน ถ้าพูดถึงคำว่า continuous ก็ต้องนึกถึง verb ที่เติม ing โดยโครงสร้างของ present continuous คือ

บอกเล่า : Subject + Verb to be (is, am, are) + Ving +……..

และถ้าอยากทำเป็นประโยคปฏิเสธก็ง่ายแสนง่าย เนื่องจาก tense นี้มีกริยาช่วย คือ verb to be อยู่แล้ว ถ้าอยากให้เป็นปฏิเสธก็เติม not เข้าไปหลัง verb to be ได้เลยค่ะ

ปฏิเสธ : Subject + is not / are not / am not + Ving + ………

และแน่นอนว่าประโยคคำถามก็ง่ายนิดเดียว คือ ถ้าเป็นประโยคคำถามแบบ yes/no question ก็จะได้ว่า
คำถาม : Is / Am / Are + Subject + Ving + ……..?

ถ้าเป็นคำถามแบบ Wh-question ที่ต้องการข้อมูล ก็คือ
คำถาม : Wh-words + is / am / are + Subject + Ving + ……..?

 

การใช้ present continuous tense ก็มีไม่มากไม่มายค่ะ มีแค่ 2 ข้อหลักๆ เอง ดังนี้ค่ะ

1. พูดถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งคำว่า “กำลังเกิดขึ้น หรือ กำลังทำ” นี้มี 2 ลักษณะด้วยกันคือ กำลังเกิดขึ้นขณะที่พูด และ กำลังทำอยู่ในระยะยาว คืออาจหมายถึง ในเดือนนี้ ปีนี้ หรือ ช่วงนี้ ก็ได้ เช่น ในขณะที่กำลังฟังเพลงอยู่ก็อาจจะพูดว่า

  • I’m listening to music now.

หรือช่วงนี้กำลังเรียนภาษาสเปนอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ได้กำลังเรียนขณะที่พูด แต่ในเดือนนี้หรือช่วงนี้กำลังเรียนอยู่ก็พูดได้ว่า

  • I’m learning Spanish.

2. พูดถึงเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน โดยอาจจะใส่ตัวบอกเวลาในอนาคตไว้ท้ายประโยค เช่น

  • I’m visiting my parents tomorrow.
  • She’s leaving here next tonight.

** มีกริยาบางตัวที่ไม่สามารถพูดในรูปของ continuous tense ได้คือกริยาในกลุ่ม ความรู้สึก การรับรู้ หรือการแสดงความเป็นเจ้าของ ได้ เช่น love, like, know, miss, have

เช่น ถ้าเราพูดว่า “เขากำลังดื่มน้ำอยู่” He’s drinking water. เราสามารถนึกภาพออกว่า อาการดื่มน้ำของเขาเป็นอย่างไร แต่ถ้าบอกว่า “เขารู้จักฉัน” เราไม่สามารถพูดได้ว่า He’s knowing me. เพราะกริยาอาการของการรู้จัก เรานึกภาพไม่ออกว่าจะมีแอ๊คชั่นเป็นอย่างไร ดังนั้นในการใช้กริยากลุ่มนี้จึงมักใช้ในรูปของ simple tense ค่ะ

Tense นี้ต่างจาก present simple tense อย่างไร ลองดูจาก 2 ประโยคนี้ค่ะ

  • Simon fixes televisions. (present simple)
  • Simon is fixing televisions. (present continuous)

ประโยคแรกที่เป็น present simple นั้นบอกเป็นนัยว่าเขาทำอาชีพซ่อมทีวี เพราะเขาทำอยู่ประจำ สม่ำเสมอเพราะมันเป็นอาชีพ แต่ประโยคที่สองนั้นเป็น present continuous นั้นบอกว่าเขากำลังซ่อมทีวีอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ช่างซ่อม แค่บอกสิ่งที่เขากำลังกระทำว่าเขากำลังซ่อมทีวีอยู่และการซ่อมนั้นจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาหนึ่ง
อย่าลืมนะคะว่า!! เอกลักษณ์ของ present continuous tense คือ Verb to be + Ving และอาจจะมี key word คือตัวบอกเวลา เช่น now, right now, at the moment หรือถ้าเป็นเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้ก็จะมีตัวบอกเวลาเป็นอนาคตเช่น tomorrow, tonight, next week, etc.

แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปค่ะ

กริยาวิเศษณ์ในภาษาอังกฤษ (Adverb)

กริยาวิเศษณ์ในภาษาอังกฤษ (Adverb)

Adverb หรือที่เรารู้จักกันคือ “กริยาวิเศษณ์” มีคำว่ากริยาอยู่ แสดงว่า  adverb จะต้องเกี่ยวข้องกับคำกริยาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ใช่ค่ะ! เพราะ adverb ทำหน้าที่ขยายกริยา นอกจากขยายกริยาแล้วก็ยังขยายคำคุณศัพท์ และคำกริยาวิเศษณ์ด้วยกันเองอีกด้วย ปัญหาของกริยาวิเศษณ์ก็คือ เราจะพบมันอยู่ในตำแหน่งต่างๆได้หลายตำแหน่งในประโยค แต่หลักในการวาง adverb ในประโยคก็ขึ้นอยู่กับประเภทของ adverb นั้นๆ ซึ่ง adverb แบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้ค่ะ

1.  Adverb of manner กริยาวิเศษณ์ที่บอกลักษณะอาการ adverb กลุ่มนี้จะบอกเราว่าประธานทำกริยานั้นๆด้วยลักษณะอาการอย่างไร เช่น

  • The 18-year-old girl drove carelessly along the road.
    เด็กหญิงอายุ 18 ขับรถอย่างประมาทไปตามถนน
  • The river flows slowly to the sea.
    แม่น้ำไหลอย่างช้าๆลงสู่ทะเล
  • The thief reluctantly admitted his guilt.
    ขโมยยอมรับความผิดของเขาอย่างลังเล

adverb ประเภทนี้วางไว้ได้หลายตำแหน่งคือ หลังกริยาตัวที่มันไปขยาย หรือถ้าประโยคนั้นมีกรรมก็วางไว้หลังกรรมก็ได้   หรือบางครั้งอาจจะวางไว้กริยาก็ได้ แต่ถ้าต้องการเน้นข้อความก็สามารถวางไว้หน้าประโยคได้   เช่น

  • Hopefully, the president will change his mind.

2. Adverb of place กริยาวิเศษณ์บอกสถานที่การกระทำกริยา เช่น there, here, somewhere, upstairs, in the + (place), etc.

  • His sister is waiting for him in the the library.
    น้องสาวของเขากำลังรอเขาในห้องสมุด
  • She has sat there for an hour.
    เธอนั่งตรงนั้นมาชั่วโมงนึงแล้ว

ตำแหน่งในการวาง adverb ประเภทนี้มักวางหลังกริยา หรือหลังกรรมของกริยานั้นๆ

3. Adverb of time กริยาวิเศษณ์บอกเวลาในการกระทำกริยา เช่น now, tomorrow, recently, afterwards, at once, since then, etc. เช่น

  • My brother is leaving now . 
    น้องชายฉันกำลังจะไปแล้วตอนนี้
  • His sister will fly to England tonight .
    พี่สาวของเขาจะบินไปอังกฤษคืนนี้
  • They play tennis in the afternoon .
    พวกเขาเล่นเทนนิสตอนกลางวัน

ตำแหน่งในการวาง adverb ประเภทนี้มักวางไว้ท้ายประโยค

4. Adverb of frequency กริยาวิเศษณ์บอกความถี่ เช่น always, usually, often, sometimes, etc.   เช่น

  • She is always late.
    เธอมักสายประจำ
  • He usually hangs out with his friends on Friday.
    เขามักออกไปเที่ยวกับเพื่อนในวันศุกร์

การวาง adverb ประเภทนี้มักวางหน้าคำกริยา แต่ถ้าประโยคนั้นมี verb to be ให้วางไว้หลัง verb to be

5. Adverb of degree คำกริยาวิเศษณ์บอกปริมาณ เช่น absolutely, almost, barely, completely, enough, entirely, fairly, far, hardly, just, much, nearly, quite, really, rather, so, too, very, etc.

  • The child is not old enough to go to school.                                        
  • The man drove too fast .
  • Jane is much taller than her sister.
  • It’s very hot here.

เรามักจะวางกริยาวิเศษณ์ประเภทนี้หน้าคำคุณศัพท์หรือคำกริยาวิเศษณ์ที่มันไป ขยาย ยกเว้น enough ที่วางไว้หลังคำคุณศัพท์หรือคำกริยาวิเศษณ์

คนไทยส่วนใหญ่เวลาพูดหรือเขียนมักขาดส่วนขยายพวกนี้ไป เลยทำให้ประโยคดูห้วนๆ ไม่ได้อรรถรส ลองฝึกใช้ adverb กันดูนะคะ

Relative clause ในภาษาอังกฤษ

relative clause

Relative clause

Relative clause คือ อนุประโยคที่ทำหน้าที่เหมือนกับ Adjective นั่นคือขยายคำนามที่อยู่ข้างหน้า   Relative clause จะช่วยให้เรารู้ว่านามที่เรากำลังพูดถึงคืออันไหน คนไหน หรือสิ่งไหนกันแน่   relative clause จะมี relative pronoun (who, whom, which, that, whose) วางอยู่ด้านหน้า

Relative clause แบ่งออกเป็น 2 ชนิดค่ะ คือ

  1. Defining Relative clause
  2. Non-defining Relative clause

1. Defining Relative clause เป็นอนุประโยคที่ไปขยายคำนามข้างหน้าซึ่งเป็นนามทั่วไป เพื่อให้ได้ใจความที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเป็นของสิ่งไหน อันไหน คนไหน   ถ้าหากไม่มี Relative clause มาขยายจะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนได้ เช่น   อาจจะมีผู้ชายยืนกันอยู่หลายคน แล้วเราต้องการบอกว่า หนึ่งในคนเหล่านั้นเป็นพี่ชายฉัน เราก็ต้องใส่ Relative clause ไปขยายไว้ด้านหลังเพื่อให้คนฟังเข้าใจได้ทันที ตัวอย่างประโยคคือ The man who is wearing blue shirt is my brother.

หน้าที่ของ defining relative clause มี 3 ประการคือ

1. ทำหน้าที่เป็นประธาน มี 2 แบบ คือ

1.1  ถ้าเป็นคนใช้ who เช่น

  • The man who is singing is my dad.
    ผู้ชายที่กำลังร้องเพลงเป็นพ่อฉัน

1.2 ถ้าเป็นสัตว์หรือสิ่งของใช้ which หรือ that เช่น

  • The room which is on the right is mine.
    ห้องที่อยู่ด้านขวาคือห้องฉัน

2 ทำหน้าที่เป็นกรรม มี 2 แบบ คือ

2.1 ถ้าเป็นคนใช้ whom เช่น

  • The man whom I talked to yesterday is our new boss.
    ผู้ชายที่ฉันคุยด้วยเมื่อวานคือเจ้านายใหม่ของเรา

2.2 ถ้าเป็นสัตว์หรือสิ่งของ ใช้ which หรือ that เช่น

  •  I like the cat which Paul bought last week.
    ฉันชอบแมวที่พอลซื้อมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

3. ทำหน้าที่เป็นเจ้าของ มี 2 แบบ คือ

3.1 เป็นคน ใช้ whose เช่น

  • The man whose hair is brown is Tom.
    ผู้ชายที่ผมของเขาสีน้ำตาลคือ ทอม

3.2 ถ้าเป็นสัตว์หรือสิ่งของให้ใช้ of which เช่น

  • The door of which knob is broken has already been repaired.
    ประตูที่ลูกบิดเสียมีคนมาซ่อมแล้ว

2. Relative clause อีกประเภทหนึ่งคือ Non-defining relative clause ซึ่ง relative clause ประเภทนี้เป็นแค่การขยายความนามเฉพาะที่อยู่ด้านหน้า จะมีหรือไม่มีก็ได้ ก็ทำให้คนฟังเข้าใจได้ทันทีว่านามนี้คือใคร หรือคืออันไหน วิธีการเขียน Non-defining relative clause ต้องเขียน คอมม่า คั่นหน้าและหลัง ส่วนหน้าที่ของ Non-defining relative clause ก็จะคล้ายๆกับ Defining relative clause เช่น

  • David, who is my neighbor, has passed away.
    เดวิดคนที่อยู่ข้างๆบ้าน เสียชีวิตแล้ว
  • I like reading Harry Potter, which is a famous novel among children.
    ฉันชอบอ่านแฮรี่ พอตเตอร์ซึ่งเป็นนิยายที่โด่งดังในหมู่เด็กๆ
  • Tim, whose leg is broken, is Angela’s boyfriend.
    ทิมที่ขาของเขาหักเป็นแฟนของแองเจล่า

Noun Clause คืออะไร?

Noun Clause

Noun Clause

Noun clause คืออะไร? Noun clause ก็คืออนุประโยคที่ทำหน้าที่เสมือนคำนาม คำนามทำหน้าที่อะไร Noun clause ก็ทำหน้าที่ได้แบบนั้นเลยค่ะ บางทีประโยคที่เราพูดๆกันมันก็อาจจะมี Noun clause อยู่แต่เราอาจจะไม่รู้ว่ามันคือ Noun clause ก็ได้ รูปร่างหน้าตาของ Noun clause ก็มีวิธีการสังเกตไม่ยากค่ะ มักจะมี Question words หรือคำแสดงคำถามนำหน้า เช่น who, where, what, how, why, who, whose, which หรือ นำหน้าด้วย that แต่การจะบอกว่าประโยคนี้เป็น noun clause หรือไม่นั้น ดูแค่หน้าตามันไม่ได้นะคะ ยังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งคือ หน้าที่ของมัน ถ้า clause นี้ทำหน้าที่เหมือนคำนาม ก็ชัดเลยค่ะว่ามันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้แน่ๆ ต้องเป็น noun clause เท่านั้น

มาดูหน้าที่ของ Noun clause กันค่ะ

1. Noun clause ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น

  • What she said made me angry.
    สิ่งที่หล่อนพูดทำให้ฉันโกรธ
  • Who she loves isn’t my business.
    หล่อนจะไปรักใครมันก็ไม่ใช่เรื่องของฉัน

2 Noun clause ทำหน้าที่เป็น กรรม โดยแบ่งออกเป็นกรรมของกริยา และ กรรมของบุพบท เช่น

2.1 กรรมของกริยา

  • I want to know why you did like that.
    ฉันอยากจะรู้ว่าทำไมคุณถึงทำอย่างนั้น
  • Her husband always believe what she says.
    สามีหล่อนมักจะเชื่อสิ่งที่เจ้าหล่อนพูด
  • I feel that you overestimated the damages.
    ผมรู้สึกว่าคุณประมาณการความเสียหายเกินจริง

2.2 กรรมของบุพบท

  • She is waiting for what she wants.
    เธอกำลังรอในสิ่งที่เธอต้องการ
  • They laughed at what he did.
    พวกเขาหัวเราะเยาะสิ่งที่เขาทำ

3. Noun clause ทำหน้าที่เป็น ส่วนเติมเต็ม (Complement) ส่วนเติมเต็มมักตามหลัง Verb to be หรือ Linking verb เช่น

  • This isn’t what you want.
    นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ
  • It seems that it is impossible.
    ดูเหมือนว่ามันจะเป็นไปไม่ได้

** ในบางครั้งเราสามารถละ that ได้ เช่น

  • I know (that) he will come.
    ฉันรู้ว่าเขาจะมา

แต่บางกรณีไม่สามารถละ that ได้ คือ เมื่อ that-clause ขึ้นต้นประโยค หรือเป็นประธานของประโยค เช่น

  • That she decided to study abroad surprised me.

อีกกรณีหนึ่งคือ that-clause ที่ตามหลังโครงสร้าง It is หรือ It was ไม่สามารถละ that ได้   เช่น

  • It’s true that earth moves round the sun.
    เป็นความจริงที่ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์

อ่านเพิ่มเติม ตอนที่ 25 : If-clause แบบ Mixed Type คืออะไร?

หลักการใช้ Conjunction ในภาษาอังกฤษ ตอนที่2

Conjunction ในภาษาอังกฤษ

หลักการใช้ Conjunction ในภาษาอังกฤษ ตอนที่2

2. Subordinating Conjunction  

ตอนที่แล้วได้พูดถึงคำเชื่อมประเภท Coordinating Conjunction ไปแล้ว   ในตอนนี้จะอธิบายถึงการใช้ Subordinating Conjunction   สองประเภทนี้ต่างกันยังไงน่ะเหรอ?….ก็ต่างกันตรงที่ Coordinating Conjunction เอาไว้เชื่อมประโยคที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่! Subordinating Conjunction จะเอาไว้เชื่อมประโยคที่มีลำดับความสำคัญไม่เท่ากัน (แบบนี้จะเรียกว่า สองมาตรฐานได้หรือป่าว) ที่มันไม่เท่ากันเพราะมันจะมีประโยคหนึ่งเป็นประโยคหลัก (main clause) อีกประโยคหนึ่งเป็นประโยคย่อย (subordinate clause) เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน จะขอแยกประเภทของ Subordinating Conjunction เป็นดังนี้ค่ะ

2.1 คำเชื่อมแสดงเวลา – คำเชื่อมในกลุ่มนี้ก็ตัวอย่างเช่น before, after, since, until, when, while, once, etc.   เช่น

  • While I was walking home, I saw the accident happen.
    ตอนที่ฉันกำลังเดินกลับบ้าน ฉันก็เห็นอุบัติเหตุเกิดขึ้น

2.2 คำเชื่อมแสดงเหตุผล – ตัวอย่างเช่น because, since, as ตัวอย่างประโยค เช่น

  • Since I am very tired of working here, I decide to resign.
    เพราะฉันเบื่อหน่ายสุดๆที่จะต้องทำงานที่นี่ ฉันจึงตัดสินใจลาออก

** คำว่า since แปลว่า เพราะว่า หรือ ตั้งแต่ ก็ได้ค่ะ

2.3 คำเชื่อมบอกเงื่อนไข – คำเชื่อมในกลุ่มนี้คือ if, if…not, unless เช่น

  • If you are late, we will leave you here.
    ถ้าคุณมาสาย เราจะทิ้งคุณไว้ที่นี่

2.4 คำเชื่อมแสดงการยอมรับหรือยินยอม (concession) เช่นคำว่า though, although, even though เช่น

  • Although this watch is quite expensive, I bought it anyhow.
    แม้ว่านาฬิกาเรือนนี้ค่อนข้างแพง แต่ฉันก็ซื้อมันมาอยู่ดี

2.5 คำเชื่อมแสดงการเปรียบเทียบ – เช่นว่าคำว่า than

  • She is prettier than me.
    หล่อนสวยกว่าฉัน

2.6 คำเชื่อมเพื่อแสดงผลลัพธ์ที่ตาม – คือคำว่า that และต้องมีคำว่า so นำหน้าเสมอเป็น so…that แปลว่า จนกระทั่ง เช่น

  • He is so ill that he cannot come.
    เขาป่วยมากจนมาไม่ได้

** คำเชื่อมแบบ subordinating conjunction ก็จะแบ่งได้คร่าวๆแบบนี้ค่ะ   ถ้าดูจากตัวอย่างด้านบนจะเห็นว่า ประโยคจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่มี subordinating conjunction นำหน้า และส่วนที่ไม่มีประโยคที่มี subordinating conjunction นำหน้าเรียกว่า subordinate clause ซึ่งไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ ต้องไปรวมกับประโยค main clause ซึ่งไม่มี subordinating conjunction อยู่ข้างหน้า และสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ หากเป็นประโยคที่อยู่เดี่ยวๆ ไม่ได้รวมกับใคร

** มี subordinating conjunction บางคำที่สามารถเป็นคำบุพบทได้ เช่น since, after, before, until, etc.   แล้วจะมีวิธีการสังเกตอย่างไรล่ะ?…..ดูตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ

  • I haven’t seen Mike since the end of the war.   (since = preposition)
  • I haven’t seen Mike since the war ended.       (since = subordinating conjunction)

ถ้าหากว่า ส่วนที่ตามหลัง since เป็นคำนาม หรือนามวลี since จะเป็น preposition
แต่ถ้าส่วนที่ตามหลังมาเป็นประโยค since จะเป็น subordinating conjunction ค่ะ พอจะแยกออกแล้วใช่มั๊ยคะ

หลักการใช้ Conjunction ในภาษาอังกฤษ ตอนที่1

Conjunction ในภาษาอังกฤษ

หลักการใช้ Conjunction ในภาษาอังกฤษ ตอนที่1

หลักการใช้ Conjunction ในภาษาอังกฤษ
หลักการใช้ Conjunction ในภาษาอังกฤษ

Conjunction มีชื่อเท่ๆเป็นภาษาไทยว่า คำสันธานหรือ คำเชื่อมนั่นเองค่ะ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ Coordinating Conjunction   และ   Subordinating Conjunction

1. Coordinating Conjunction คือคำเชื่อมที่ใช้เชื่อม คำกับคำ กลุ่มคำกับกลุ่มคำ หรือประโยคกับประโยค โดยที่ประโยคจะต้องเป็นประโยคที่มีลำดับความสำคัญที่เท่าเทียมกัน   เท่าเทียมกันในที่นี้หมายความว่าถ้าหากว่าประโยคใดประโยคหนึ่งต้องอยู่เดี่ยวๆ มันก็สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยประโยคอื่นมาประกอบเพื่อให้ใจความสมบูรณ์   คำเชื่อมหลักๆในกลุ่มนี้คือ for, and, nor, but, or, yet, so หรือมีตัวย่อเก๋ๆว่า FANBOYS ซึ่งมาจากอักษรตัวแรกของแต่ละคำ เพื่อให้จำได้ง่ายขึ้นค่ะ   มาดูวิธีการใช้กันค่ะ

For : คำนี้อาจจะคุ้นกันในความหมายว่า เพื่อ หรือ สำหรับ แต่!! ถ้าหากว่าเป็นคำเชื่อมปุ๊บจะแปลว่า “เพราะว่า” ค่ะ เช่น

  • The little girl hid behind her mother, for she was afraid of the dog.
    เด็กสาวหลบหลังแม่ของเธอเพราะว่ากลัวสุนัข

And : คำเชื่อมตัวนี้น่าจะเป็นคำเชื่อมตัวแรกๆที่เรามักจะรู้จัก แปลว่า “และ”   สามารถเชื่อมคำ กลุ่มคำ หรือประโยคก็ได้ เช่น

  • My husband and I are going to Rayong this weekend.
    ฉันและสามีของฉันจะไประยองสุดสัปดาห์นี้ (เชื่อมคำกับคำ)
  • My favorite hobbies are playing sports and listening to music.
    งานอดิเรกที่ฉันโปรดปรานคือการเล่นกีฬาและการฟังเพลง (เชื่อมกลุ่มคำกับกลุ่มคำ)
  • January is the first month of the year, and December is the last.
    เดือนมกราคมเป็นเดือนแรกของปี และเดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้าย (เชื่อมประโยคกับประโยค)

Nor : แปลว่า และ…ไม่ แต่จะเป็นประโยคที่มีความหมายเชิงปฏิเสธ เช่น

  • She can’t speak English, nor can she speak French.
    เจ้าหล่อนพูดอังกฤษไม่ได้และยังพูดฝรั่งเศสก็ไม่ได้ด้วย

**   nor มีความพิเศษตรงที่ ประโยคหลัง nor จะต้องเรียงโครงสร้างเหมือนกับคำถามคือ กริยาช่วย แล้วตามด้วยประธาน แล้วค่อยตามด้วยกริยาหลัก แต่ความหมายก็เป็นปฏิเสธนะคะ

  • They don’t like eating fast food, nor do we.
    พวกเขาไม่ชอบกินอาหารจานด่วนและพวกเราก็ไม่ชอบเหมือนกัน

But : แปลว่า “แต่” ใช้เชื่อประโยคที่ขัดแย้งกัน เช่น

  • Mr. Smith came to the party but Mr. William didn’t.
    คุณสมิธมางานปาร์ตี้แต่คุณวิลเลี่ยมไม่ได้มา

Or : แปลว่า “หรือ” เป็นการให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

  •  You can email or fax us the details of the program.
    คุณสามารถส่งอีเมล์หรือแฟกซ์รายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมมาให้เราก็ได้
  • My friends and I usually go to a party on Saturday night, or we go to the movies.
    ฉันและเพื่อนๆมักจะไปปาร์ตี้ในคืนวันเสาร์หรือไม่ก็ไปดูหนัง

Yet : ถ้าเป็นคำเชื่อมจะแปลว่า “แต่”   เช่น

  • I have a cold, yet I’m eating ice cream now.
    ฉันเป็นหวัดแต่ฉันก็กำลังกินไอศกรีมอยู่

So : ถ้าเป็นคำเชื่อมจะแปลว่า “ดังนั้น”   เช่น

  • I came to class late, so I was made to stay late after school.
    ฉันมาเรียนสาย ก็เลยถูกบังคับให้ต้องอยู่เย็นหลังเลิกเรียน

** คำเชื่อมอีกประเภทหนึ่งคือ Subordinating Conjunction ติดตามต่อในตอนที่ 2 นะคะ ^^