Fragment ในภาษาอังกฤษคืออะไร

Fragment ในภาษาอังกฤษคืออะไร

Fragment ในภาษาอังกฤษคืออะไร

ปัญหาหนึ่งที่พบว่าการเขียนภาษาอังกฤษมันยากก็คือ คนไทยจะเขียนประโยคที่ไม่สมบูรณ์เขียนเสร็จก็รีบใส่จุด full stop ทันทีโดยคิดว่านั่นคือประโยคที่ใช้ได้แล้ว สมบูรณ์แล้ว ประโยคที่ขาดๆ ไม่สมบูรณ์นี้เรียกว่า Fragment ซึ่งเป็นเพียงวลี หรือกลุ่มคำแต่ยังไม่เป็นประโยค ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าประโยคที่สมบูรณ์ในภาษาอังกฤษจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ ต้องมีประธาน และ ต้องมีกริยา หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปถือว่าไม่เป็นประโยคสมบูรณ์ ยกเว้นประโยคคำสั่งที่มีแต่กริยาขึ้นต้นประโยคได้ และประโยคที่สมบูรณ์จะต้องไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดสับสนหรือเกิดค้างคาในความหมายของประโยค มาดูตัวอย่าง Fragment กันค่ะ

1. Bangkok which is the capital city of Thailand.
2. I like listening to music. And like singing a song.
3. This evening, we won’t go out. Because it’ s raining.

ประโยคแรกขาดกริยา ถึงแม้จะมีคำว่า is อยู่ แต่ is เป็นกริยาของประโยคย่อยที่มาขยาย Bangkok

ประโยคที่สอง ตรงส่วนที่ขีดเส้นใต้เป็น fragment เพราะขาดประธาน
ประโยคที่สาม ส่วนที่ขีดเส้นใต้ ถ้าดูดีๆก็มีครบทั้งประธานและกริยา แต่มันมี because มานำหน้านี่สิ!! ประโยคนี้แปลว่า “เพราะฝนกำลังตก” ก็ทำให้ผู้อ่านเกิดคำถามว่า ฝนตกแล้วทำไม? ฝนตกแล้วมันยังไง? ไม่ได้ใจความสมบูรณ์ในประโยค
Fragment ในประโยคเกิดได้หลายแบบ ดังต่อไปนี้ค่ะ

(1.) dependent clauses fragment : dependent clause คือประโยคที่ไม่สามารถอยู่ได้โดยอิสระ ต้องไปพึ่งพาประโยคอื่น ประโยคเช่นนี้มักมี คำเชื่อมหรือ subordinating word นำหน้า ซึ่งถือว่ายังไม่ใช่ประโยคสมบูรณ์ เช่น

  • After I talked to him.

ประโยคนี้เป็น fragment เพราะมีคำเชื่อม after อยู่ข้างหน้า และใจความของประโยคก็ยังไม่ครบถ้วน เพราะหลังจากที่ฉันคุยกับเขา แล้วเป็นยังไงต่อ? ยังเกิดคำถามค้างคาอยู่ วิธีการแก้คือ ต้องเพิ่มประโยคอื่นเข้าไปอีกประโยคให้ได้ใจความ เช่น

  • After I talked to him, he decided to help us.

(2.) fragment ที่ขาดประธาน เช่น

  • Mike hates eating vegetable. But likes eating carrot.

ประโยคที่ขีดเส้นใต้เป็น fragment เพราะขาดประธาน วิธีการแก้ก็คือรวมประโยคแรกและประโยคที่สองเข้าด้วยกันซะ เพราะประธานคือคนๆเดียวกัน

  • Mike hates eating vegetable but likes eating carrot.

(3.) fragment ที่เป็นส่วนขยาย fragment ในลักษณะนี้ผู้เขียนมักแยกเอาส่วนขยายออกมาซึ่งไม่ถือเป็นประโยคสมบูรณ์ เช่น

  • Tehran is the capital city of Iran. Formerly called Persia.

ประโยคที่ขีดเส้นใต้ เป็นวลีที่มาขยายคำนาม Iran วิธีการแก้ก็คือแค่รวมเอา fragment เข้าไปกับประโยคแรก ดังนี้

  • Tehran is the capital city of Iran, Formerly called Persia.

(4.) fragment ที่ขาดกริยาหลัก เช่น

  • Learning English as a second language.

ประโยคนี้ขาดกริยาหลักของประโยค ถึงแม้ประโยคนี้จะมี learning ที่ดูเหมือนคำกริยาแต่จริงๆแล้วเป็น V-ing ที่ทำหน้าที่เสมือนคำนาม แปลว่า “การเรียน” วิธีการแก้ก็คือหาคำกริยาใส่เข้าไป คือ

  • Learning English as a second language is important nowadays.

เวลาเขียนประโยคหรือเขียน paragraph จึงต้องระวังไม่ให้เขียน fragment เพราะจะทำให้งานเขียนของเราขาดความสละสลวยทางไวยากรณ์ค่ะ ^^